จากรั้วโรงเรียน สู่มหาลัย และเร่ ร่อนไปในวัฒนธรรมของเหล่าชายชาตรีผู้มากฐานะ สู่มือของชนชั้นแรงงานในสกอตแลนด์ วันนี้ Carnival Where They Came From จะพาทุกคนไปรู้จักกับเส้นทางอันน่าอัศจรรย์ของ “Football Jersey” หรือ “เสื้อฟุตบอล” ไอเทมยอดฮิตที่เห็นกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อ แต่ทุกคนรู้ไหมว่าไอเทมชนิดนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งเเต่ยุค Victorian หรือประมาณ 120 ปีที่แล้ว อะไรคือจุดเริ่มต้นของไอเทมชนิดนี้ วันนี้เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบกัน
กีฬาซัดเเข้งของเหล่าสุภาพบุรุษ
(A gentleman's game played by gentlemen)
เกมฟุตบอลครั้งเเรกเกิดขึ้นที่ไหน? การจะกลับไปค้นประวัติเพื่อหาต้นกำเนิดของเสื้อฟุตบอลนั้น เราควรเริ่มจากคำถามง่ายๆ ว่าเกมลูกหนังที่เราเล่นพบเห็นกันในปัจจุบันนั้นมีจุดกำเนิดมาจากที่ไหน? เรื่องนี้คงต้องย้อนกลับไปในยุควิคตอเรียน ในช่วงราวๆ ค.ศ. 1837—1901 หรือประมาณ 120 ปีที่เเล้ว ซึ่งในตอนนั้นเองยังไม่มีการบันทึกเรื่องราวของกีฬาชนิดนี้ไว้เลยด้วยซ้ำ เเต่นักวิชาการสมัยใหม่ก็เชื่อกันว่า จุดเริ่มต้นของกีฬาชนิดนี้มาจากการเเข่งขันกันเองภายในหมู่บ้าน ไม่มีกฎกติกาและไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น โดยส่วนมากจะเป็นการกำหนดกฏกันเองภายในหมู่บ้าน นั้นจึงเป็นเหตุผลที่ยุคสมัยนี่กีฬาฟุตบอลยังไม่ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร
กฏกติกาที่ได้รับการยอมรับจริงๆ นั้นเริ่มมาจากโรงเรียนรัฐบาลอังกฤษที่ต้องการเเบ่งการเเข่งขันในระดับหมู่บ้านเเละระดับโรงเรียนออกจากกัน โดยมีโรงเรียน Harrow, Winchester, Uppingham, Shrewsbury, Marlborough และ Charterhouse ที่เริ่มทำเครื่องเเบบในเวอร์ชั่นของตัวเองขึ้นมา เเต่นี่ก็ยังไม่ใช่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเพราะกฏที่ใช้ในเเต่ละโรงเรียนยังไม่ตรงกัน นั้นทำให้เกิดความขัดเเย้งขึ้นระหว่างโรงเรียนอยู่บ่อยครั้ง เเละเมื่อชายหนุ่มจากรั้วมัธยมเริ่มเข้าสู่ระดับมหาลัย พวกเขาเริ่มก่อตั้งสโมสรฟุตบอลเเละความพยายามครั้งเเรกเพื่อจะจัดตั้งกฏที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันก็ได้เริ่มขึ้นในยุคสมัยนี้ โดยมหาลัยเเรกที่เป็นผู้บุกเบิกก็คือ มหาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) ในปี 1848 เเต่ตัวกฏในยุคนี้เองยังเต็มไปด้วยความไม่สมเหตุสมผล เช่น ต้องเปลี่ยนฝั่งทุกครั้งหากมีประตูเกิดขึ้น ผู้เล่นสามารถจับบอลได้หากมาจากเท้าของฝั่งตรงข้าม หรือ กฏที่ห้ามผู้เล่นสัมผัสบอลที่มาโดยตรงจากผู้รักษาประตู จนกว่าฝ่ายตรงข้ามจะทำการสัมผัสบอลเสียก่อน เเต่ก็ใช่ว่าในยุคนี้จะมีเเต่กฏที่ใช้การไม่ได้ เพราะในยุคนี้ได้เกิดกฏที่สำคัญขึ้นมาข้อหนึ่งก็คือ “กฏการทำฟาวล์” เเละ “การฟาวล์เพลย์”
ขยับมาอีก 2 ปีหน้าประวัติศาสตร์ก็ต้องจารึกตำนานบทใหม่เพราะในปี 1850 ได้เกิดสโมสรฟุตบอลเเห่งเเรกในโลกขึ้นมา ซึ่งเป็นสโมสรแรกที่ไม่ใช่ทั้งโรงเรียนเเละมหาวิทยาลัย ชื่อนั้นก็คือ “Sheffield Club” สโมสรฟุตบอลที่เก่าเเก่ที่สุดโลก โดยกฏส่วนมากที่ใช้เล่นกันในสโมสรจะเป็นการผสมระหว่างฟุตบอลกับรักบี้ เเต่กฏที่เเปลกที่สุดข้อหนึ่งก็คงจะหนีไม่พ้นกฏในการเเบ่งทีมที่บังคับให้ผู้เล่นสวมหมวกสักหลาด โดยจะเเบ่งทีมตามสีของหมวก ที่จะเเบ่งเป็นสีเเดงเเละน้ำเงิน บอกได้เลยถ้าจอมโขกในตำนานอย่าง Tim Cahill หรือ Luis Garcia เกิดในยุคนี้รับรองว่าพวกเขาคงหงุดหงิดกับเจ้าหมวกที่อยู่บนหัวตลอดเวลาที่เเข่งเเน่นอน
FA Cup เเละภาพปรากฏของชุดยูนิฟอร์มชุดเเรกของโลก
(The FA cup and the world's first kit)
ข้ามมาในปี 1863 ผู้เล่นชั้นนำได้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลขึ้นและได้ร่างกฎหมายระดับชาติชุดแรกขึ้นมา โดยใช้กฎของเคมบริดจ์และกฎของสโมสรเชฟฟิลด์ จนในปี 1872 จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญก็ได้เริ่มต้นขึ้นเพราะได้มีการเปิดตัว FA Cup (Football Association Challenge Cup) การแข่งขันฟุตบอลรอบน็อกเอาต์ประจำปีของฟุตบอลชายในอังกฤษ เเละที่การเเข่งขันนี้เป็นจุดเปลี่ยนก็เพราะทุกทีมที่เข้าร่วมต้องเล่นตามกฎของ FA Cup เท่านั้น เเละกฏที่สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนก็คือ การบังคับให้เเเต่ละสโมสรมีเครื่องแบบที่เเตกต่างกัน เพื่อป้องกันความสับสนทั้งกับตัวนักเตะเเละผู้ที่เข้ามาชมเกมการเเข่งขัน
โดยชุดยูนิฟอร์มได้ปรากฏครั้งเเรกในปี 1870 มีทีมอย่าง Blackburn Rovers ที่มาในคู่สี “White Navy” เเละสโมสร Reading Football Club ที่ลงเล่นด้วยคู่เสื้อสี “Salmon pink” สุดเอกลักษณ์เป็นผู้นำเทรนด์ในยุคนั้น โดยเสื้อของผู้เล่นมักถูกเรียกว่า "jerseys" ส่วนมากจะเป็นเสื้อสีล้วนเช่น ขาว เเดง น้ำเงิน หรือในบางทีมก็ใช้ลายทางในเเนวนอน ส่วนลายทางที่เป็นเเนวตั้งนั้นยังไม่เกิดขึ้นในยุคนี้ เนื่องจากเครื่องจักรในสมัยนั้นผลิตได้เเต่ผ้าที่มีลายขวางในแนวนอนเท่านั้น จนในปี 1887 บริษัท Rothwell Hosieryได้เปิดตัวเครื่องจักรใหม่ที่สามารถถักลายทางได้ทุกทิศทาง เเต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข้อจำกัดเพราะนักกีฬายังต้องซื้อชุดใส่เอง เเน่นอนว่าชนชั้นแรงงานที่เล่นกีฬาในสกอตแลนด์นั้นไม่สามารถซื้อชุดราคาเเพงพวกนี้ได้เเน่นอน นั่นหมายความว่าพวกเขาจะไม่สามารถเล่นในระดับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยได้เลยหรอ?
ชนชั้นเเรงงานผู้ล้มยักษ์ สู่ต้นกำเนิดของลีคฟุตบอลระดับโลก
(The Origins of the Football League)
คำตอบคือเปล่าเลยเพราะในช่วงทศวรรษที่ 1880 มีเกมที่เป็นจุดเปลี่ยนนั่นคือเกม FA Cup นัดชิงชนะเลิศเมื่อปี 1883 ระหว่าง Blackburn Olympic Football Club กับ Old Etonians ถือเป็นตัวแทนของการปะทะกันระหว่างกลุ่มแรงงานในโรงงานจากทางตอนเหนือที่มีพื้นเพมาจากฝั่งสกอตแลนด์อย่าง Blackburn กับศิษย์เก่าของโรงเรียนอีตัน ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นโรงเรียนของเหล่าผู้มีฐานะอย่างทีม Old Etonians เเละนี่ถือเป็นครั้งเเรกที่ทีมฟุตบอลที่มาจากชนชั้นเเรงงานสามารถล้มยักษ์ลงได้ จากเหตุการ์ณในครั้งนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างให้กับวงการฟุตบอลในอังกฤษ เเต่ถึงอย่างนั้นนักฟุตบอลชาวสกอตเเลนด์ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งเรื่องค่าเเรง เเละเรื่องที่ถูกมองว่าเป็นมือสมัครเล่น จนในปี 1888 ได้มีการก่อตั้ง Football League เพื่อแก้ไขปัญหานี้และจัดให้มีการแข่งขันระหว่างสโมสรชั้นนำอย่างสม่ำเสมอ เเละผลที่ตามมาก็คือผู้เล่นยอดฝีมือในสกอตเเลนด์ได้ถูกชักจูงเข้ามาลีค เพื่อค่าเเรงที่เป็นธรรมมากขึ้น
เมื่อสโมสรกลายเป็นอาชีพ นักกีฬาก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อชุด ค่าใช้จ่ายทั้งหมดตกอยู่ที่สโมสร จุดนี้เองที่ทำให้เสื้อบอลเริ่มเป็นที่เเพร่หลายในยุคนั้น ข้ามมาในยุคหลังสงครามโลก (1945) Umbro ถือเป็นผู้ผลิตสัญชาติอังกฤษรายเเรกที่ทดลองใช้วัสดุสังเคราะห์ชนิดใหม่ ทาง Umbro ได้ผลิตเสื้อเเข่งนัดชิงชนะเลิศในถ้วย FA Cup ให้กับทีม Bolton Wanderers ในปี 1953 ส่วนในอีกซีกโลกผู้ผลิตในอิตาลีเเละอเมริกาใต้ได้นำผ้าฝ้ายที่มีน้ำหนักเบามาใช้ผลิตเสื้อ Jersey เเละพวกเขายังมาพร้อมกับแพทเทิร์นแขนสั้นเเละทรงที่พอดีตัว ยกตัวอย่างชุดจากทีม Juventus ในปี 1950 หรือ ชุดจากทีม Real Madrid ในปีเดียวกันที่มีการตัดเย็บแบบใหม่ด้วยคอวีและทรงที่รัดรูป ข้ามมาในปี 1976 ที่ได้เกิดโลโก้ของผู้สนับสนุนขึ้นบนเสื้อ โดยมีทีม Southern League Kettering Town กลายเป็นสโมสรแรกของอังกฤษที่เล่นโดยมีชื่อสปอนเซอร์บนเสื้อ
ขยับมาในปี 1978 การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอีกครั้งเพราะการมาถึงของผ้าโพลีเอสเตอร์ เเละได้มีการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ สำหรับการพิมพ์ยกตัวอย่างชุดทีมชาติอังกฤษในปี 1980 ซึ่งถือเป็นเสื้อกลุ่มแรกๆ ที่ใช้บล็อกสีพิมพ์ลงบนตัวเสื้อ เเละเสื้ออีกตัวที่เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่หลอมรวมเเฟชั่นกับเสื้อกีฬาเข้าด้วยกันก็คือเสื้อของทีมชาติ Holland ในศึกยูโรปี 1988 ที่มีการใช้เทคนิคการสกรีนผ้าเเละลวดลายที่ซับซ้อน นับเป็นก้าวเเรกที่ทั่วโลกได้เห็นอีกรูปแบบของเสื้อ Jersey ที่ดูแฟชั่นมากขึ้นและยุคสมัยหลังจากนี้การมาถึงของเทคโนโลยีจะเปลี่ยนภาพจำที่เรามีกับเสื้อฟุตบอลไปตลอดกาล
มิติใหม่ของเสื้อ Jersey สู่นวัตกรรมล้ำยุค
เมื่อก้าวพ้นยุคสมัยสุดจำเจที่เสื้อฟุตบอลยังไร้ซึ่งความหลากหลาย เเละการมาถึงของเทคโนโลยีการสกรีนผ้าได้ลบรูปแบบเดิมๆ ของเสื้อฟุตบอลไปจนหมดสิ้น จนเกิดเสื้อฟุตบอลลายแปลกๆ ขึ้นมามากมาย อย่างในปี 1992 เสื้อจากสโมสร Hull City ที่ถูกกล่าวขานกันในวงการฟุตบอลว่าเป็น 'Ugliest kit in football history' หรือ “เสื้อที่น่าเกลียดที่สุดในประวัติศาสตร์โลกฟุตบอล” โดยตัวเสื้อจะเป็นลวดลาย “Tiger Stripes” ตามฉายา The Tigers ของสโมสร ถ้ามองจากมุมมองในยุคนั้นก็ถือว่าเป็นลายเสื้อที่แปลกพอสมควร เเต่ถ้ามองกลับมาในยุคสมัยนี้ เสื้อตัวนี้ได้กลายเป็นที่ต้องการของเหล่านักสะสม เเละเสื้ออีกหนึ่งตัวที่น่าพูดถึงคือเสื้อของผู้รักษาประตูทีมชาติญี่ปุ่น Yoshikatsu Kawaguchi ในศึกฟุตบอลโลกปี 1998 สุดยอดผลงานจากค่าย Aiscs ที่มาพร้อมกับลายไฟสุดร้อนแรงที่ชวนให้นึกถึงไฟตามดิสโก้คลับต่างๆ เเละยังมีอีกหนึ่งลายที่มีความคล้ายกันก็คือเสื้อจากรอบคัดเลือกของผู้รักษาประตู Kawaguchi คนเดิมในศึกที่ญี่ปุ่นต้องปะทะกับฝรั้่งเศส โดยตัวเสื้อมาในลวดลายไฟที่เปลี่ยนเฉดสีจากดำเป็นเขียว เรียกได้ว่าเป็นลวดลายที่เท่เเละล้ำยุคแบบสุดๆ
ขยับมาในปี 2000 ที่ได้เกิดอีกหนึ่งสุดยอดนวัตกรรมที่ทั่วโลกต้องตะลึง กับเสื้อแข่งจากทีมชาติอิตาลี ที่ใช้ลงทำศึกฟุตบอลโลกที่มาในรูปแบบของเสื้อสีน้ำเงิน รัดรูป ทั้งตัวมีเพียงตราสัญลักษณ์เเละโล่ห์ธงชาติอิตาลี เพียงชิ้นเดียว แต่ดูงามสง่าสมเป็นแชมป์โลกสามสมัยจากดินแดนแฟชั่น ซึ่งผลงานในครั้งนี้มาจากเเบรนด์ Kappa เเบรนด์ชุดกีฬาสัญชาติอิตาลี ที่ได้คิดค้นนวัตกรรมเสื้อรัดรูปและใยผ้าผสม lycra ที่มีน้ำหนักเบาเเละบางเเถมยังยืดหยุ่นได้ดีสุดๆ ด้วยตัวเสื้อที่บางมากๆ ทำให้คู่แข่งสามารถจับได้ยาก เเละด้วยความที่ผ้าบางยังช่วยขับเน้นมัดกล้ามเเละสรีระของนักกีฬาให้ดูสง่าผ่าเผย โดย Kappa ได้เรียกเทคโนโลยีชนิดนี้ว่า “Kappa Kombat” โดยในปัจจุบัน Kappa ก็ยังคงพัฒนานวัตกรรมชนิดนี้อย่างต่อเนื่องทั้งซับเหงื่อดีขึ้นเเละยืดหยุ่นได้มากขึ้นกว่าเดิม
สู่ไอเทมที่หลอมรวมโลกกีฬากับแฟชั่นให้เป็นหนึ่ง
ตัดภาพมาในปัจจุบันคงไม่ต้องไม่พูดอะไรกันเยอะ เพราะแฟชั่นในปัจจุบันได้หลอมรวมเข้ากับโลกแฟชั่นไปเป็นที่เรียบร้อย เหล่าเเบรนด์น้อยใหญ่ต่างพากันดีไซน์เสื้อฟุตบอลเจอร์ซีย์ในเวอร์ชั่นของตัวเอง ทั้งเจ้าแม่สาย Rave อย่าง Martin Rose เรามักได้เห็นเธอวาดลวดลายบนเสื้อ Jersey อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเอกลักษณ์ของเธอมักมาในทรง Oversize หลวมๆ โคร่งๆ ในคู่สีเจ็บๆ เเต่ใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน เเต่ที่ล้ำไปกว่านั้นก็คือ ในปี 2021 เธอได้ร่วมมือกับ Nike เพื่อสรรสร้างเสื้อเชียร์ทีมชาติอังกฤษ ในศึกยูโร 2021 โดยเสื้อตัวนี้นอกจากจะเป็นเสื้อเชียร์ทีมชาติเเล้ว ตัวของ Martin Rose ยังทำเพื่อสื่อถึงทีม “Lioness” ทีมชาติหญิงยุคแรกของอังกฤษที่ได้เข้าร่วมฟุตบอลโลกปี 1971 ที่ประเทศเม็กซิโกเป็นเจ้าภาพ ซึ่งแม้จะไม่ได้คว้าแชมป์ แต่พวกเธอก็สร้างประวัติศาสตร์และได้รับการขนานนามเป็นฮีโร่ของฟุตบอลอังกฤษ หรือแม้เเต่แบรนด์ระดับ luxury อย่าง Louis Vuitton ก็ได้เปิดตัวเสื้อ The Equipe LV Polo ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเสื้อฟุตบอล เเถมที่บริเวณหน้าอกยังมีตราสโมสร L.V.F.C เเบรนด์คู่แข่งอย่าง Gucci ก็ไม่น้อยหน้าเพราะในปี 2022 พวกเขาได้ปล่อยงาน collaboration สุดแปลกตากับแบรนด์สายสเก็ตจากเกาะอังกฤษอย่าง Palace โดยจะมาพร้อมเสื้อ Jersey 3 แบบในกลิ่นอายสไตล์อิตาลีอันเป็นเอกลักษณ์ หรือแบรนด์จากฝั่งอเมริกาอย่าง Supreme เองก็มีงานคอลแลปกับ Nike ซึ่งมักจะมีเสื้อที่อินสไปร์มาจาก Football Jersey ให้เราได้เห็นกันอยู่เสมอ หรืออย่างในปีนี้เองทาง Supreme เองก็ได้ออกเสื้อในสไตล์ Football Jersey มาอีกหนึ่งครั้ง ซึ่งเป็นงานคอลเเลประหว่าง Aeon Flux อนิเมชั่นอเมริกันเรื่องดังในยุค 90s
จากครั้งอดีตที่เสื้อฟุตบอลเป็นไอเทมราคาแพงที่มีไว้สำหรับเหล่านักกีฬาผู้องอาจ เหล่าชนชั้นแรงงานหรือคนธรรมดาปุถุชนไม่มีสิทธิ์แตะต้อง แต่ในทุกวันนี้ภาพจำแบบนั้นไม่มีอยู่อีกเเล้วเสื้อฟุตบอลก็คือเสื้อฟุตบอล ที่คนใส่ทุกคนเท่ากัน ไม่มีรอยแบ่งใดๆ ซิลลูเอทอันไร้กาลเวลาของเสื้อฟุตบอลได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกเเละวัฒนธรรมบนท้องถนนที่ผู้คนทั้งโลกเห็นชอบร่วมกันเเละในศึกฟุตบอลโลกปีนี้ Carnival ก็ไม่ขอน้อยหน้ามาร่วมเฉลิมฉลองมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลก ไปกับคอลเลคชั่นสุดพิเศษ "2022 Carnival F.C" ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชุดแข่งฟุตบอลจากหลากหลายยุคสมัย นำมาถ่ายทอดผ่านเสื้อ Football Jersey ในทรง Loose Fit หลวมกำลังพอดี มาพร้อมวัสดุผ้า Jersey แบบทอลายทั้งตัว เสริมรายละเอียดด้วย Carnival FC Patch สุดเป็นเอกลักษณ์ที่บริเวณหน้าอก พร้อมเนื้อผ้าตาข่ายเพื่อการระบายอากาศที่บริเวณด้านข้างเพื่อให้เหมือนกับเสื้อฟุตบอลที่ใช้เเข่งในสนามจริงๆ